19 พฤษภาคม 2024
hilight-หลัก Story

เซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน : ถึงวันปิดตำนานแห่งตำนาน!

หนึ่งในเรื่องราวแห่งตำนานของโลกลูกหนังที่โลกไม่มีวันเลือน

“ปีศาจแดง” แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องประสบกับเหตุการณ์เครื่องบินตกที่มิวนิค หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อว่า “โศกนาฏกรรมมิวนิค 1958”

สโมสรใช้คำแทนเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า “The darkest day in United′s history”

ยูไนเต็ด ต้องเสียบุคคลสำคัญจากเหตุการณ์นั้น และครอบครัวนักเตะต้องเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปอย่างไม่มีวันหวนคืน

ผู้จัดการทีมตอนนั้นคือ แมตต์ บัสบี้ ต้องสูญเสียนักเตะยุค “บัสบี้ เบ๊บส์” ไปถึง 8 คน

———————————

ทั้งหมดประกอบด้วย โรเจอร์ เบิร์น, เดวิด เพ็กก์, เอ๊ดดี้ โคลแมน, มาร์ค โจนส์, บิลลี่ วีแลน, ทอมมี่ เทย์เลอร์, เจฟฟ์ เบนท์ และ ดันแคน เอ๊ดเวิร์ดส์

ขณะที่ผู้รอดชีวิตอย่าง แจ็คกี้ บลานช์ฟลาวเวอร์ และ จอห์นนี่ เบอร์รี่ ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนถึงขั้นต้องแขวนสตั๊ด

จะมีนักเตะอย่าง บ็อบบี้ ชาร์ลตัน ในวัย 20 ปี รอดชีวิตมาเช่นเดียวกับ บิลล์ โฟล์คส์, แฮร์รี่ เกร็กก์, เคนนี่ มอร์แกนส์, อัลเบิร์ต สแกนลอน, เดนนิส ไวโอลเล็ตต์ และ เรย์ วู้ด

รวมถึง แม็ตต์ บัสบี้ ที่ใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลนานถึง 3 เดือน ก่อนจะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง

———————————
ความยิ่งใหญ่ของทีมนั้น ถือว่าสร้างความ”สั่นสะเทือน”ให้กับวงการฟุตบอล ในทศวรรษที่ 50 เมื่อ บัสบี้ กุนซือชาวสก็อตแลนด์ ที่มี จิมมี่ เมอร์ฟี่ย์ เป็นมือขวา

ปี 1945 บัสบี้ ปฏิเสธ ลิเวอร์พูล ทีมเก่าสมัยเป็นนักเตะ เพื่อเข้ามาทำงานที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด โดยเน้นการทำงานด้วยการ”ปั้นดาวรุ่ง”เป็นกำลังสำคัญ

เพียงแค่ 3 ปี บัสบี้ นำทัพ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1948 ซึ่งนับเป็นถ้วยรางวัลแรกของสโมสรในรอบเกือบ 40 ปี

———————————

นักเตะหลายคนถูกผลักดันมาจาก “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จูเนียร์ แอธเลติก คลับ” ศูนย์ฝึกเยาวชนในสมัยนั้น

ในเดือนพฤศจิกายน ปี 1951 แจ็คกี้ บลานช์ฟลาวเวอร์ วัย 18 ปี และ โรเจอร์ เบิร์น วัย 21 ปี ลงดวลกับ ลิเวอร์พูล เมื่อเดือน พ.ย. ปี 1951

ทำให้ แฟรงค์ นิคลิน รองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์แมนเชสเตอร์ อีฟนิ่ง นิวส์ ในเวลานั้น ได้ตั้งฉายานักเตะชุดนี้ว่า “บัสบี้ เบบส์”

———————————

หลังจากทีมได้แชมป์ลีกปี 1952 นักเตะชุดใหญ่หลายคนเริ่มแยกตัวออกไป แต่นักเตะจากศูนย์ฝึกเริ่มถูกดันสู่ทีมชุดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เดวิด เพ็กก์, เดนนิส ไวโอลเล็ตต์, บิลล์ โฟล์คส์ และ ดันแคน เอ็ดเวิร์ดส์ และอีกหลายคน

ทำให้ทีมนี้เป็นทีมที่มีแต่ดาวรุ่งอนาคตไกลมารวมตัวกันอยู่ที่นี่

สเกาท์สายตาสุดเฉียบแหลม ประจำทีมนั้นคือ โจ อาร์มสตรอง

———————————

ยูไนเต็ด เดินหน้าคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 2 ปีซ้อน ในซีซั่น 1955-1956 และ 1956-57 ด้วยอายุเฉลี่ยนักเตะเพียง 22 ปี

กระทั่งวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 1958 ยูไนเต็ด บุกไปเสมอกับ เรดสตาร์ เบลเกรด ทีมดังของยูโกสลาเวีย 3-3 เข้าสู่รอบตัดเชือกยูโรเปี้ยนคัพ ไปรอดวลกับ “ปีศาจแดงดำ” เอซี มิลาน

ระหว่างเดินทางด้วยเครื่องบิน ไฟลท์ BE609 ของสายการบิน British European Airways เกิดเรื่องที่ไม่ควรจะบังเกิดขึ้นกับใครทั้งนั้นในโลกนี้

———————————

ปัญหาเริ่มต้นที่เครื่องบินมีน้ำมันไม่พอ จึงต้องแวะเติมน้ำมันที่สนามบินมิวนิค เยอรมัน

แต่พอเติมน้ำมันเสร็จแล้ว นักบินกลับไม่สามารถนำเครื่องขึ้นได้ตามปกติ เครื่องบินลื่นไถลออกนอกรันเวย์ ก่อนจะชนรั้วสนามบินและบ้านข้างเคียง และระเบิดในที่สุด

ยังผลให้เกิดการสูญเสียครั้งสำคัญ เพราะมีผู้เสียชีวิตทันที 23 คน และอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นก็คือ 8 นักเตะของยูไนเต็ด และทีมสตาฟฟ์อีก 3 คนไม่ได้กลับบ้าน

———————————

สุดท้าย บัสบี้ กลับมาคุมทัพและพาทีมกลับมาเป็นแชมป์ลีกได้อีกครั้ง ด้วยขุนพลรุ่นใหม่อย่าง จอร์จ เบสต์, น็อบบี้ สไตล์ส, ไบรอัน คิดด์ บวกกับ ชาร์ลตัน และโฟลค์ ที่เป็นเหมือนกับสัญลักษณ์ของทีมชุดก่อน

พวกเขาผงาดแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ ปี 1968 เป็นทีมแรกของอังกฤษ ที่ทำได้

———————————

จากวันนั้นถึงวันนี้ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะมีการร่วมรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว โดยทุกคนจะใช้รหัส “Flower Of Manchester”

ที่มาก็จาก The Spinner ที่แต่งเพลง Flower Of Manchester เพื่อรำลึกถึงนักเตะยูไนเต็ดในยุคนั้น

———————————

เมื่อ 4 ปีก่อน เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของแมนฯยูไนเต็ด ได้เผยแพร่สารคดี Munich Remembered ออกมาเป็นที่เรียบร้อยผ่านทุกช่องทางโซเชี่ยลมีเดียของสโมสร เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย

มาถึงวันเสาร์ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้รอดชีวิตยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ แล้วมาลงสนามครองแชมป์อย่่างยิ่งใหญ่ จนได้รับประดับยศให้เป็นอัศวินในกาลต่อมา นั่นคือ เซอร์บ็อบบี้ ชาร์ลตัน

เป็นคนสำคัญของทีมยุครอยต่อของ “บัสบี้ เบ็บส์” และเป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่นำทีมชาติอังกฤษ ครองแชมป์โลก สมัยแรก และสมัยเดียวจนถึงขณะนี้ ปี 1966

ถือครองสถิติผู้ทำประตูสูงสุดให้กับทีมชาติอังกฤษ 49 ประตูนานหลายสิบปี

ชีวิตอาจจะต้องเดินทางไปอีกที่หนึ่ง ความตายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ แต่ตัวท่านจะยังคงอยู่ในใจแฟนบอล พร้อมกับยืนต้อนรับผู้คนจากทุมมุมโลกที่หน้าโอลด์ แทรฟฟอร์ด ณ รูปปั้น United Trinity ที่ท่านยืนตระหง่านอยู่กับ เดนนิส ลอว์ และจอร์จ เบสต์

เพราะฟุตบอลนั้น ไม่ใช่เน้นแค่ผลการแข่งขันเท่านั้น

มันคือชีวิต

อีกทั้งเมื่อ แมนฯยูไนเต็ด ลงสนามในบ้านคราครั้งใด “Sir Bobby Charlton Stand” ก็จะปรากฎไปทั่วโลก

ตั้งแต่ปัจจุบันตราบจนนิรันดร์ไป……….

บีแหลมสิงห์

ป.ล.ผมเคยมีโอกาสพบตัวจริงของท่าน และถ่ายรูปกับท่าน 1 ครั้ง เมื่อปี 2013 เมื่อครั้งไปทำข่าวสิงห์ต่อสัญญาเป็นโกลบอล พาร์ทเนอร์ กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในช่วงงานเลี้ยงต้อนรับ ก่อนเกมระหว่าง ยูไนเต็ด กับ เซาธ์แฮมป์ตัน

หวังว่าท่านคงจะพักผ่อนอย่างสบาย และได้พบกับสหายผู้ยิ่งใหญ่ที่เคียงบ่าเคียงไหล่กันมา ในไม่ช้านี้………

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: ล

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: อ

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: แ

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: แ

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: ไ

hilight-หลัก, Sport

ปรีวิว: ส