7 พฤษภาคม 2024
hilight-หลัก Sport Story

แด่”จักรพรรดิ์ลูกหนัง”ด้วยจิตคารวะ #บางโพงพางการเขียน

ผมเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อคืนนี้ และนำมาลงให้อ่านกันตอนเช้า หลังจากทราบข่าวที่ไม่ดีเลย…..

เมื่อวันเสาร์เราต้องเสีย มาริโอ ซากัลโล่ ตำนานลูกหนังบราซิล นักเตะคนเดียวที่ครองแชมป์โลกถึง 4 ครั้ง 3 สถานะไปหมาด ๆ

ค่ำคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา โลกลูกหนัง และโลกใบนี้ต้องน้ำตาตกในอีกครั้ง…..

ผมขออนุญาตนำท่านดำดิ่งสู่ประวัติศาสตร์ลููกหนังอีกครั้ง แบบเปิดก๊อกจากสมองแห่งความทรงจำกันครับ….

….มีการกำหนดเอาไว้ว่า หากชาติใด ได้แชมป์โลก 3 สมัยเป็นชาติแรก จะได้ถ้วยจูลส์ ริเมต์ ถือครองเป็นกรรมสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว

กระทั่งการแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 9 ที่ประเทศเม็กซิโก ปี 1970 จบลงด้วยชัยชนะของ “แซมบ้า” บราซิล ทำให้พวกเขาเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 3 ทำให้ ฟีฟ่า ต้องจัดการสรรหาและประกวดถ้วยใหม่ขึ้นทันที

หลังจากมีผู้นำเสนอถึง 53 แบบด้วยกัน ปรากฏว่าผู้ชนะเลิศ นั่นคือ ซิลวิโอ กาซซานิก้า ประติมากรชาวอิตาเลียน

ถ้วยฟีฟ่า เวิลด์คัพ ใบนี้ กาซซานิก้า คิดค้นเมื่อปี 1971 ก่อนจะทำขึ้นจากทองคำ 18 กะรัต และมีนำหนัก 6.175 กิโลกรัม ซึ่งตำแหน่งของ “ฐานถ้วย” ที่มีวงแหวนคาดสองเส้น มีพื้นที่ไว้สลักชื่อผู้ชนะไว้ทั้งหมด 17 ช่อง

เริ่มใช้ครั้งแรกในฟุตบอลโลก ปี 1974 ที่ประเทศเยอรมันตะวันตก(สมัยนั้น) เป็นเจ้าภาพ และพวกเขาก็ได้แชมป์

ไปครองเป็นทีมแรก ซี่งนักบอลคนแรกที่ได้ชูถ้วยนี้ในฐานะแชมป์โลกคือ “แดร์ ไกเซอร์” ฟรานซ์ เบ๊คเคนบาวเออร์ กัปตันทีมอินทรีเหล็ก นั่นเอง

จากนั้นในปี 1990 เบ๊คเค่นบาวเออร์ ในฐานะ “บุนเดสเทรนเนอร์” สมัยที่ 2 ในฟุตบอลโลก พาทีมเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศแล้วลบแค้นสุมอกด้วยการคว่ำ “ฟ้าขาว” อาร์เจนติน่า ลงได้ 1-0 ครองแชมป์โลก สมัยที่ 3

พร้อมกับปิดตำนานกำแพงเบอร์ลิน ไม่มีคำว่า เยอรมันตะวันตก และตะวันออก อีกต่อไป หลังจากทัวร์นาเมนท์นั้นที่อิตาลี

เบ๊คเคนบาวเออร์ จารึกชื่อว่า เขาคือนักเตะคนแรกที่เป็นทั้ง “กัปตันทีม” และ “ผู้จัดการทีม” ที่ครองแชมป์ฟุตบอลโลกได้ทั้งสองฐานะ

นี่คือ “ลิเบอโร่แห่งตำนาน” ที่เล่นในตำแหน่งนี้ได้ดีที่สุดนับตั้งแต่มีการคิดสูตรนี้เมื่อยุค 1930 คิดค้นโดย คาร์ล แรปพาน โค้ชชาวออสเตรีย ที่คุมทัพ เซอร์เว็ตต์ เอฟซี

ก่อนที่โลกจะต้องรอจนอีกเกือบ ๆ 40 ปีถึงจะมีคนที่เล่นในตำแหน่งนี้ได้ดีที่สุด

นั่นคือ ฟรานซ์ เบ๊คเค่นบาวเออร์

ว่ากันถึง “ฟุตบอลโลก” และ “โลกฟุตบอล” ช่วงเวลาสำคัญต่าง ๆ นั้น เบ๊คเค่นบาวเออร์ ถือว่าเขาเกิดมาเพื่อสิ่งนี้อย่างแท้จริง

อาทิ…….

ปี 1966 “ลูกยิงประตูผี” ของ เจฟฟ์ เฮิร์สท์ กองหน้าอังกฤษ ในนัดชิงชนะเลิศ เบ๊คเค่นบาวเออร์ เป็นปราการหลังคนสำคัญของทีม แต่ต้องผิดหวังด้วยการแพ้ “สิงโตคำราม” 2-4 ในเกมนัดชิงชนะเลิศ “คู่แรก” ที่ต้องต่อเวลาพิเศษ

ปี 1970 ฟุตบอลโลก รอบรองชนะเลิศ เกมระหว่าง อิตาลี กับ เยอรมันตะวันตก ได้ถูกยกย่องให้เป็น “Game of the Century”

การดวลแข้งที่เอสตาดิโอ อัซเตก้า ประเทศเม็กซิโก ท่ามกลางอากาศร้อนระอุ ทั้งสองทีมสร้างเกมที่สุดยอดออกมาให้โลกได้จดจำด้วยการดวลแข้งกันยาวนาน 120 นาที และมีทุกรสชาติ ก่อน อิตาลี จะชนะไปแบบโชกโชน 4-3

ภาพจำตลอดกาลจากเกมนั้นส่งต่อรุ่นสู่รุ่นก็คือ เบ๊คเค่นบาวเออร์ โดนกระแทกอย่างจังจาก ปิแอร์ลุยจิ เซร่า จนไหล่หลุดในนาทีที่ 70 แต่กัดฟันเล่นต่อ เพราะทีมเปลี่ยนตัวครบแล้ว

ปี 1971 เขาได้รับปลอกแขนกัปตันทีมต่อจาก อูเว่ ซีเลอร์ และให้หลังเพียงปีเดียวก็พาทีมชูถ้วยแชมป์ยูโร 72 ด้วยการปราบ สหภาพโซเวียต 3-0

ปี 1974 ทีมที่โลกแทบจะสยบใต้อุ้งเท้าของ “นายพลลูกหนัง” ไรนุส มิทเชลส์ แห่งเนเธอร์แลนด์ และมีจอมทัพระดับ “นักเตะเทวดา” โยฮัน ครัฟฟ์ ก็ต้องปราชัยพลาดแชมป์โลกให้กับ เยอรมันตะวันตก ที่มี เบ๊คเค่นบาวเออร์ เป็นกัปตันทีม 1-2

ปี 1976 เชโกสโลวาเกีย ได้แชมป์ยูโรสมัยแรก และสมัยเดียวด้วยการยิงจุดโทษชนะ เยอรมันตะวันตก ที่มี เบ๊คเค่นบาวเออร์ เป็นกัปตันทีม และโลกได้รู้จักลูกยิงจุดโทษตักแบบชิพ ๆ เข้าไปตุงตาข่ายของ อันโตนิน ปาเนนก้า ที่เราเรียกติดปากกันทุกวันนี้ว่า “ลูกโทษสไตล์ปาเนนก้า” ก็เกิดจากเกมนี้

หลังจากเลิกเล่นทีมชาติด้วยวัยเพียง 31 ปี เขาเดินทางไปยังอเมริกา และมีโอกาสเล่นนัดอุ่นเครื่องกับ นิวยอร์ค คอสมอส ต้นสังกัดที่อาร์เจนติน่า และพบกับเด็กมหัศจรรย์ที่ชื่อ ดีเอโก้ มาราโดน่า ในวัย 18 ปี

ไม่น่าเชื่อว่าทั้งคู่มาห้ำหั่นกันต่อ ในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ถึง 2 สมัย แต่ต่างสถานะ เนื่องจาก เบ๊คเค่นบาวเออร์ มาเป็นทีมเชฟของ “อินทรีเหล็ก” ขณะที่ มาราโดน่า คือนักเตะมหัศจรรย์แห่งยุค

มาราโดน่า ชนะ เบ๊คเค่นบาวเออร์ สำเร็จในนัดชิงที่อัซเตก้า เม็กซิโก 3-2 ครองแชมป์โลกสมัยที่ 2 และทำให้ “ไกเซอร์ฟรานซ์” ต้องลิ้มรสความปราชัยในนัดชิงบอลโลกอีกครั้ง

ฟรานซ์ กระอักเลือดอีกครั้งในอีก 2 ปีต่อมา เมื่อแพ้ เนเธอร์แลนด์ ที่มี ไรนุส มิทเชลส์ หวนคืนบัลลังค์มาคุมทัพอีกครั้ง และเด็ดปีกอินทรีเหล็ก 2-1 ที่โฟลค์สพาร์ค สตาดิโอน ในฮัมบูร์ก

เนเธอร์แลนด์ มาเอาคืนเยอรมันตะวันตกถึงถิ่น และยังเป็นแชมป์ยูโร 88 พร้อมกับถือกำเนิดตำนานไม่มีวันตาย “สามทหารเสือดัทช์” รุด กุลลิท, แฟรงค์ ไรจ์การ์ด และมาร์โก้ แวน บาสเท่น

อย่างไรก็ตามอีก 2 ปีต่อมาในฟุตบอลโลกที่อิตาลี ปรากฎว่า เบ๊คเค่นบาวเออร์ เอาคืนทุกคนได้แบบทบต้นทบดอกพร้อมกันถึง 3 ทีม นั่นคือ เนเธอร์แลนด์, อังกฤษ และอาร์เจนติน่า

“อินทรีเหล็ก” เขี่ยพวกดัทช์ ตกรอบ 2 ด้วยสกอร์ 2-1 พร้อมกับคดี “ถุยสะท้านโลก” ระหว่าง ไรจ์การ์ด กับ รูดี้ โฟลเลอร์

ยิงจุดโทษชนะ อังกฤษ ในรอบรองชนะเลิศ เป็นการตอกย้ำ อังกฤษ อีกครั้งหลังจากเคยทุบ 3-2 เมื่อปี 1970 ถอนและฝากต่อไปอีกดอกหลังจากประตูผีที่เวมบลีย์ 1966

ลงท้ายด้วยการเป็นแชมป์ เชือด อาร์เจนติน่า 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ ด้วยจุดโทษของ อันเดรส เบรห์เม่ สร้างตำนาน “สามทหารเสือดอยช์” ให้โลกจำ นั่นคือ โลธาร์ มัทเธอุส, เยอร์เก้น คลินส์มันน์ และเบรเม่ห์

พร้อมกับจารึกว่า เป็นบอลโลก นัดชิงคู่แรก ที่ไม่มีประตูจากโอเพ่นเพลย์ และมีใบแดงหนแรก แถมยังมีถึง 2 ใบด้วยกัน

เห็นมั๊ยครับว่า “แดร์ ไกเซอร์” คือผู้ที่อยู่ในบันทึกสำคัญแห่งโลกฟุตบอลอย่างมากมาย

จะมีใครที่เป็นกัปตันนำทัพแล้วปราบสูตรฟุตบอลปีศาจ “โททั่ลฟุตบอล” ลงได้ราบคาบ รวมถึงวางแผนกำราบยอดนักเตะมหัศจรรย์อย่าง มาราโดน่า ได้สำเร็จ

ที่สำคัญนั่นก็คือ ทั้งสองครั้งเกิดขึ้นในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก!!!!

เท่ากับว่า โลกได้สูญเสียที่สุดของที่สุดแห่งโลกฟุตบอลอีกท่านหนึ่งไปตลอดกาล ด้วยวัย 78 ปี

ใจหายอย่างที่สุดครับ

บีแหลมสิงห์

ป.ล.ภาพที่ผมนำมาประกอบให้กับทุกคนได้เห็นคือ หนังสือที่ผมให้กับท่านเซ็นให้ เมื่อกว่า 20 ปีก่อน เมื่อครั้ง “แดร์ ไกเซอร์” เป็นตัวแทนเยอรมนี มาหาเสียงเป็นเจ้าภาพบอลโลก 2006 และพบกับสื่อมวลชนที่โรงแรมโอเรียนเต็ล

ผมยื่นหนังสือให้ท่าน และเปิดภาพนี้ เล่นเอาตำนานลูกหนังถึงกับร้อง “โอ้ว…ผมชอบภาพนี้มาก”

นั่นคือภาพที่ไหล่หลุดแต่ยังบู๊ต่อในบอลโลก 1970 นั่นเอง…….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *